วันเสาร์ที่ 17 กันยายน พ.ศ. 2554

วงแหวนแห่งไฟ

วงแหวนแห่งไฟ

วงแหวนแห่งไฟ (อังกฤษ: Pacific Ring of Fire หรือ the Ring of fire) เป็นบริเวณในมหาสมุทรแปซิฟิกที่เกิดแผ่นดินไหวและภูเขาไฟระเบิดบ่อยครั้ง มีลักษณะเป็นเส้นเกือกม้า ความยาวรวมประมาณ 40,000 กิโลเมตร และวางตัวตามแนวร่องสมุทร แนวภูเขาไฟและบริเวณขอบแผ่นเปลือกโลก โดยมีภูเขาไฟที่ตั้งอยู่ภายในวงแหวนแห่งไฟทั้งหมด 452 ลูก และเป็นพื้นที่ที่มีภูเขาไฟคุกกรุ่นอยู่กว่า 75% ของภูเขาไฟคุกกรุ่นทั้งโลก[1] ซึ่งบางครั้งจะเรียกว่า circum-Pacific belt หรือ circum-Pacific seismic belt
แผ่นดินไหวประมาณ 90% ของแผ่นดินไหวที่เกิดขึ้นทั่วโลกและกว่า 80% ของแผ่นดินไหวขนาดใหญ่ เกิดขึ้นในบริเวณวงแหวนแห่งไฟ นอกจากวงแหวนแห่งไฟ ยังมีแนวแผ่นดินไหวอีก 2 แห่ง ได้แก่ แนวเทือกเขาอัลไพน์ ซึ่งมีแนวต่อมาจากเกาะชวาสู่เกาะสุมาตรา ผ่านเทือกเขาหิมาลัย และทะเลเมดิเตอร์เรเนียน แนวแผ่นดินไหวแห่งนี้มีแผ่นดินไหวเกิดขึ้น 17% ของทั้งโลก และอีกแห่งคือ แนวกลางมหาสมุทรแอตแลนติก ซึ่งมีแผ่นดินไหวเกิดขึ้น 5-6% ของทั้งโลก[2][3]
ภูเขาไฟมายอน ประเทศฟิลิปปินส์
การปะทุของภูเขาไฟเซนต์เฮเลนส์ เมื่อวันที่ 22 กรกฎาคม ค.ศ. 1980
วงแหวนแห่งไฟเป็นผลมาจากการเคลื่อนที่และการชนกันของแผ่นเปลือกโลก[4] แบ่งเป็นส่วนวงแหวนทางตะวันออก มีผลมาจากแผ่นนาซคาและแผ่นโคคอส ที่มุดตัวลงใต้แผ่นอเมริกาใต้ ส่วนของแผ่นแปซิฟิกที่ติดกับแผ่นฮวนดีฟูกา ซึ่งมุดตัวลงแผ่นอเมริกาเหนือ ส่วนทางตอนเหนือที่ติดกับทางตะวันตกเฉียงเหนือของแผ่นแปซิฟิก มุดตัวลงใต้บริเวณเกาะเอลูเชียนจนถึงทางใต้ของประเทศญี่ปุ่น และส่วนใต้ของวงแหวนแห่งไฟเป็นส่วนที่มีความซับซ้อนของแผ่นเปลือกโลก มีแผ่นเปลือกโลกขนาดเล็กมากมายที่ติดกับแผ่นแปซิฟิก ซึ่งเริ่มตั้งแต่หมู่เกาะมาเรียน่า ประเทศฟิลิปปินส์ เกาะบัวเกนวิลเล ประเทศตองกา และประเทศนิวซีแลนด์ แนววงแหวนแห่งไฟยังมีแนวต่อไปเป็น แนวอัลไพน์ ซึ่งเริ่มต้นจากเกาะชวา เกาะสุมาตราของอินโดนีเซีย รอยเลื่อนที่มีชื่อเสียงที่ตั้งบนวงแหวนแห่งไฟนี้ ได้แก่ รอยเลื่อนซานอันเดรียส ในรัฐแคลิฟอร์เนีย ประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งมีการเกิดแผ่นดินไหวขนาดเล็กอยู่เป็นประจำ รอยเลื่อนควีนชาร์ลอตต์ ทางชายฝั่งตะวันตกของหมู่เกาะควีนชาร์ลอตต์ รัฐบริติชโคลัมเบีย ประเทศแคนาดา ซึ่งทำให้เกิดแผ่นดินไหวขนาดใหญ่ 3 ครั้ง ได้แก่ แผ่นดินไหวขนาด 7 ริกเตอร์เมื่อ ค.ศ. 1929 แผ่นดินไหวขนาด 8.1 ริกเตอร์ในปี ค.ศ. 1949 (แผ่นดินไหวครั้งใหญ่ที่สุดในประเทศแคนาดา) และแผ่นดินไหวขนาด 7.4 ริกเตอร์ในปี 1970[5]
ภูเขาไฟที่มีชื่อเสียงที่ตั้งอยู่ในวงแหวนแห่งไฟ เช่น ภูเขาไฟวิลลาร์ริกา ประเทศชิลี ภูเขาไฟเซนต์เฮเลนส์ ประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งเคยเกิดการระเบิดครั้งใหญ่เมื่อวันที่ 18 พฤษภาคม ค.ศ. 1980 ได้พ่นเถ้าถ่านออกมากว่า 1.2 ลูกบาศก์กิโลเมตร ภูเขาไฟฟูจิ ประเทศญี่ปุ่น ระเบิดครั้งล่าสุดเมื่อ ค.ศ. 1707 ภูเขาไฟพินาตูโบ มายอน ทาล และคานลายอน ประเทศฟิลิปปินส์ ซึ่งภูเขาไฟพินาตูโบเคยเกิดระเบิดครั้งใหญ่ที่สุดเมื่อปี ค.ศ. 1991 ภูเขาไฟแทมโบรา เคลูด และเมราปี ในประเทศอินโดนีเซีย ภูเขาไฟลูอาเปทู ประเทศนิวซีแลนด์ และภูเขาไฟเอเรบัส ทวีปแอนตาร์กติกา
ภูเขาฟูจิ ประเทศญี่ปุ่น
แผ่นดินไหวครั้งใหญ่ที่เกิดขึ้นในแนววงแหวนแห่งไฟนี้ เช่น แผ่นดินไหวคาสคาเดีย มีขนาด 9 ริกเตอร์ เกิดเมื่อ ค.ศ. 1700 แผ่นดินไหวโลมาพรีเอตา ในแคลิฟอร์เนีย แผ่นดินไหวภาคคันโต ในประเทศญี่ปุ่นเมื่อปี ค.ศ. 1923 ทำให้มีผู้เสียชีวิตกว่า 130,000 คน แผ่นดินไหวเกรตฮันชินในปี 1995 และครั้งใหญ่ที่สุดที่เคยบันทึกไว้ คือแผ่นดินไหวเมื่อ ค.ศ. 2004 บริเวณมหาสมุทรอินเดีย ขนาด 9.3 ริกเตอร์ ทำให้เกิดคลื่นยักษ์สึนามิพัดถล่มบริเวณโดยรอบ โดยเฉพาะอินโดนีเซียที่ถูกถล่มด้วยคลื่นขนาด 10 เมตร ทำให้มีผู้เสียชีวิตประมาณ 230,000 คน